Wednesday, August 12, 2009

Lars and the real girl : ผมรักตุ๊กตา



Lars and the real girl : ผมรักตุ๊กตา

ได้มีโอกาสหาหนังเรื่องนี้มาดู ด้วยความที่ว่าพล็อตเรื่องดูน่าสนใจเหลือเกิน มันคือเรื่องราวของ “ลาห์”หนุ่มผู้อาศัยอยู่ในเมืองหนาวเล็กๆแห่งหนึ่ง ด้วยวัย 27 ปี เขามีปัญหาด้านการเข้าสังคมกับผู้อื่น วันหนึ่งเขาตกหลุมรักกับตุ๊กตายางที่สั่งจากอินเตอร์เน็ต แน่นอนว่า ฟังแล้วอาจคิดว่าเป็นหนังสัปดน ตลกคอมมิดี้หรือเปล่า เปล่าเลยมันกลับละมุนละไมอุ่นไปด้วยความรัก

“บิอังก้า” คือผู้หญิงที่ลาห์หลงรัก แต่เธอเป็นตุ๊กตายาง ในบางคราวเรามักลืมไปชั่วขณะว่าเธอเป็นตุ๊กตา เพราะหนังทำให้เราเห็นว่า เธอเป็นเหมือนสมาชิกคนหนึ่งในสังคม มีความสำคัญต่อเรื่องๆนี้ อดคิดไม่ได้ว่าเธอก็มีชีวิตเหมือนกัน เพราะในสังคมเล็กๆที่ลาห์อยู่ ต่างต้อนรับบิอังก้าเป็นอย่างดี มันเป็นเรื่องแปลก ที่คนในสังคมจะยอมรับ ผู้ชายคนหนึ่งที่แนะนำตุ๊กตายางว่าเป็นคนรักของเขา แต่ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว เพราะพวกเขารักลาห์ต่างหาก เมื่อบิอังก้าเป็นคนที่ลาห์รัก บิอังก้าก็เป็นหนึ่งเดียวกับสังคมเช่นกัน

พฤติกรรมของลาห์แล้วแม้ดูน่าหัวเราะ แต่แท้จริงแฝงความผิดปกติทางจิตไว้ ลาห์มีภาพหลอน(Illusion)หรือจิตหลอนว่า บิอังก้ามีชีวิต เขาพูดคุย หยอกล้อ ดูแล หรือแม้แต่ทะเลาะกับเธอ เหมือนกับว่าบิอังก้าสามารถโต้ตอบกับเขาได้ เอาเข้าจริงแล้ว ถ้าถามว่า พูดคุยกับตุ๊กตาแปลกไหม จริงๆแล้วไม่แปลก เพราะเหมือนกันเวลาเราคุยกับหมากับแมวที่เราเลี้ยง หรือแม้แต่ตุ๊กตา (แน่นอนเราไม่หวังให้มันตอบ) แต่มันเป็นทางเลือกหนึ่งแห่งการระบายอารมณ์ ทำให้เราหายเหงา ได้พูดคุยสื่อสารยามที่เราไม่สามารถสื่อสารกับใคร มันไม่สามารถเดินหนีเราไป ทำหน้าบึ้งเมื่อไม่พอใจ หรือเลือกที่จะไม่ฟังเราได้ มันเป็นผู้ยอมรับฟังโดยดุษฎี ที่กล่าวมานี่เอง คงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ ลาห์ผู้ไม่สามารถมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้อื่นได้ หรือแม้แต่โดนตัวผู้อื่น สามารถอยู่ใกล้ๆบิอังก้าได้ สิ่งต่างๆที่ทำให้ลาห์มีความรู้สึกแบบนี้ เพราะแม่ของเขาเสียชีวิตแต่เด็ก พี่ชายทิ้งไปอยู่ที่อื่นทำให้เขาต้องอยู่กับพ่อผู้โศกเศร้า แม้เราไม่สามารถแน่ใจได้ว่า ชีวิตวัยเด็กของลาห์เป็นเช่นไร แต่เขาคงไม่ได้เข้าสังคม มีเพื่อนสนิท หรือแม้แต่มีแฟน รอบตัวของลาห์จึงเหมือนมีกำแพงกั้นที่แม้แต่พี่ชายของเขาก็เข้าไม่ถึง

บิอังก้า จึงเป็นเหมือนตัวประสาน ลาห์ใช้การสื่อสารพูดคุยกับบิอังก้า ทำให้เขาไม่ต้องอยู่กับตัวเองจนเกินไป บิอังก้าทำให้เขามีความสุข ช่วยรักษาเขาทีละน้อยจากอาการที่เป็นอยู่ เป็นตัวเชื่อมระหว่างลาห์กับคนในสังคม ที่น่ารักคือคนอื่นๆในสังคมก็ให้ความร่วมมือเต็มที่ ปฎิบัติต่อบิอังก้าเหมือนผู้หญิงคนหนึ่ง และเธอก็เป็นที่รักของคนในสังคมด้วย เวลาที่บิอังก้าป่วย (ลาห์คิดว่าป่วย) แท้จริงแล้วการที่บิอังก้าถูกพาไปหาหมอ ก็คือการที่ลาห์ได้ไปหาหมอโดยไม่รู้ตัวในระหว่างที่รอบิอังก้า เขาได้พูดคุยกับหมอ เข้าใจตัวเองมากขึ้น ปมในจิตใจค่อยๆคลายไปทีละน้อย


การที่ลาห์ได้มีความสัมพันธ์กับบิอังก้า (เหมือนเป็นแฟนกัน) ทำให้ลาห์ได้เข้าสังคมมากขึ้น จนในวันหนึ่งที่ลาห์ค้นพบว่า ตนเองสามารถกล้าคุยกับคนอื่นได้ รวมถึงเพื่อนร่วมงานหญิงที่รู้จักกัน แต่การที่เขาไม่ต้องการจะนอกใจบิอังก้า ทำให้เขาเกิดความขัดแย้งขึ้นในจิตใจตัวเอง ซึ่งท้ายสุดแล้วบิอังก้าที่จิตของลาห์ได้สร้างขึ้น ได้ถูกกลไกของจิตจัดการออกไป ไม่เลย ลาห์ไม่ได้ใจร้าย ทุกสิ่งเป็นไปตามกลไกของมัน ลาห์ตัดสินใจให้บิอังก้าตาย (จากอาการป่วยของเธอ) ในบ่ายไม่มีแดดวันหนึ่ง ที่พวกเขาไปนั่งปิกนิกริมแม่น้ำกัน เมื่อบิอังก้าตาย ก็เป็นจุดจบของความสัมพันธ์นี้ ต้องขอบคุณบิอังก้าที่ทำนหน้าที่เหมือนเรือข้ามฝาก ให้ลาห์ผ่านกำแพงจนสามารถมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงจริงๆได้เสียที


เมื่อบิอังก้าจากไป ทุกคนต่างเศร้าโศก รวมถึงลาห์ แต่สำหรับเขาแล้วการจากไปของบิอังก้า กลายเป็นจุดเริ่มต้นหลายอย่างในชีวิตของเขา ที่หลายต่อหลายอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
นี่เป็นหนังที่ฉันรู้สึกว่ามันน่ารักมากที่เดียว เพราะบางทีตอนดูก็ทำให้ได้ยิ้ม ในท่าทางแปลกๆที่คนพยายามจะยอมรับตุ๊กตาในสังคมเล็กๆของพวกเขาให้ได้ รวมๆแล้วเป็นหนังน่ารัก เป็น coming of age วัยผู้ใหญ่ที่ทำได้ดีมากเลยทีเดียว รับรองไม่ผิดหวังค่ะ

No comments:

Post a Comment