Saturday, November 29, 2008

The Graduate : ชีวิตหลังจบแสนสับสน




เคยได้ดูเรื่อง The Graduate มาแล้วนิดหนึ่ง ตอนนั้นอาจารย์เคยเปิดให้ดู แถมบอกตอนจบเสียนี่ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความอยากดูลดน้อยลงเลย ด้วยความที่ประทับใจสุดๆกับฉากเปิดเรื่อง พร้อมกับเพลงสุดเพราะที่เคยได้ยินสมัยเด็กอย่าง The sound of silence ของ Simon and Garfunkel นอกจากเพลงจะลอยแล้ว ที่ไม่ใช่แค่เฉพาะเพลงเปิดเรื่องแต่รวมถึง soundtrack ในเรื่องด้วย ซึ่งก็เหมาะกับตัวเอกของหนังเองที่ล่องลอยแปลกแยกไม่แพ้เพลงเช่นกัน

The Graduate เป็นภาพยนตร์ปี 1967 จะให้นับกันดูก็กว่า 41 ปีมาแล้ว ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ ถึง 7 รางวัลในปีนั้นและคว้ารางวัล Best director หนังเรื่องนี้กำกับโดย Mike Nichols เป็นเรื่องของชายหนุ่มชื่อ “เบนจามิน แบรดด็อก” (Dustin Hoffman) ผู้ซึ่งเป็นนักเรียนทุนที่จบมาใหม่และกำลังเดินทางกลับบ้าน แต่ประเด็นของเขาก็คือ เบนจามินเอง ก็ไม่แน่ใจว่า เขาจะทำอย่างไรกับชีวิตต่อไป เขาจะทำอะไรต่อไป ตัวเขาเองก็สับสนไม่รู้จะทำอย่างไร นำมาซึ่งเรื่องราวมากมาย ความเคอะเขิน ไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่มีใครรับฟัง ไม่แน่ใจว่าสิ่งไหนที่ควรทำ นำมาซึ่งเรื่องราวที่เขาคาดไม่ถึงมากมาย



ช่วงแรกหนังเต็มไปด้วยอารมณ์ขันแบบที่เรานึกขำในความเรียบร้อยของเบนจามิน ที่โดน Mrs. Robinson หุ้นส่วนซึ่งเป็นเพื่อนแม่เขา พยายามจะล่อลวง (seduce = ล่อไปนอนนั่นแหละ) ทำตัวเหนือกว่าตลอดเวลา โดยชายหนุ่มใสซื่ออย่างเบนจามิน ท้ายสุดก็ตกหลุม ไม่ว่าจะชั่ววูบหรืออะไรก็ตาม ก็คือการเป็นชู้กับเพื่อนแม่ตัวเอง (แม้แต่ถึงจุดหนึ่งแล้ว เบน ก็ยังไม่สำนึกว่าสิ่งที่ตัวเองทำผิดและเลวร้ายแค่ไหน โดยยกเอาว่า เขาไม่ได้ตั้งใจ ฟังแล้วก็เหมือนกับคนหลงผิดสับสนอยู่ไม่คลาย)

แม้ว่าภายหลังจากที่เบนจะได้เป็นชู้กับ Mrs. Robinson แล้ว เขาดูจะมั่นใจมากขึ้น ดูกร้านโลกในชั่วข้ามคืน (หนังเคลื่อนไปอย่างนั้นจริงๆ) คนดูจะรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน แบบคนละคนทีเดียว เบนจามินในช่วงหลังนี้ มั่นใจ แต่แปลกแยกเก็บตัวมากขึ้น ชีวิตดูเหมือนมีเป้าหมาย (เป็นชู้กับเพื่อนแม) เขาออกไปที่โรงแรมแทบทุกเย็น และเวลาผ่านไป เบน ก็ยังไม่ได้เริ่มต้นทำอะไร่

แต่อย่างที่เขาว่า โชคชะตามักเล่นตลกกับเราเสมอ ภายหลังเบนได้ตกหลุมรักกับเอลเลน ลูกสาวบ้าน Robinson ซึ่งแน่นอนเรื่องไม่ได้จบลงง่ายๆอย่างแน่นอน ตัวละครนี้ทำให้เราได้ทราบว่า ตัวเบนไม่ใช่คนเดียวที่สับสน เอลเลนที่อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกัน อยู่ในมหาวิทยาลัยใกล้เรียนจบแล้ว ก็สับสนไม่แพ้กัน

ความสับสนในชีวิตของคนที่เรียนจบอย่างเบนจามิน เกิดขึ้นจากสิ่งใดหนอ

ในหนัง ยุคสมัยนั้น ความเป็นโมเดิร์นเข้ามาในสังคม (ในแง่นี้ตีความจากบริบททิศทางในภาพยนตร์) เราจะเห็นความฉาบฉวย ชีวิตเลิศหรู แม้แต่พ่อแม่ของเบนเองก็ร่ำรวยชั้นสูง เมื่อลูกกลับมาก็มีการจัดงานเลี้ยงต้อนรับ เชิญแขกเรื่อเพื่อป่าวประกาศ หรือแม้แต่ซื้อของให้ลูก อย่างรถยนต์เปิดประทุน หรือชุดประดาน้ำ (ซึ่งคงเป็นของใหม่สมัยนั้น) ความโมเดิร์นผ่านความทันสมัย เครื่องแต่งกาย (ยอมรับว่าแฟชั่น บรรดาแม่ๆในเรื่องแสบสันจริง) หรือแม้แต่สถาปัตยกรรมทรงเหลี่ยม หนุ่มสาว และวัยพ่อแม่ต่างอยู่ในอารมณ์สังสรรค์ แทบไม่เห็นอารมณ์เครียดของวัยผู้ใหญ่เลยเห็นแต่ปาร์ตี้ริมสระน้ำ ซึ่งแลดูทันสมัย (อเมริกันชนจริงๆด้วย)

ความโมเดิร์นที่เข้ามาทำให้โลกเปลี่ยนไปแบบรวดเร็ว จนตามไม่ทัน ขาดการยึดเหนี่ยวจิตใจ จากสิ่งที่เป็นสรรสาระในชีวิต ก็ดูพ่อแม่เขาสิเป็นอย่างไร หลังจากที่เขาเรียนจบการเป็นชู้กับเพื่อนแม่ คงเป็นสิ่งสุดท้ายที่เขาคิดจะทำซึ่งแน่นอน ก็ทำไปแล้ว ระหว่างการเรียนเขาอาจไม่ได้คิดแน่นอนว่าเขาต้องการทำอะไร เรื่องแบบนั้นไม่ได้เป็นแค่ในหนัง แต่แม้แต่ชีวิตของเด็กสมัยนี้ ก็เห็นกันไม่น้อย

ความสับสนของเบนสื่อมาทางภาพและวลีคำพูดซ้ำของเขา ที่สื่อผ่านมาในหลายห้วงเวลาของหนัง คำว่า ไม่รู้ (I don’t know) เราได้ยินคำนี้หลายครั้งจากทั้งเบนและเอลเลน ในหลายๆซีน ในช่วงแรก เบน เหมือนคนที่ตกอยู่ในอาการ “เวิ้นเว้อ” งงๆกับชีวิต ฉากแรกที่เริ่มส่ออาการ คือฉากงานเลี้ยงต้อนรับ ใครๆต่างเข้ามายินดีกับเบน ถามว่า แล้วจะทำอะไรต่อหล่ะ สิ่งที่เบนตอบคือ จะไปเอาของที่รถบ้าง จะเดินไปพักที่ห้องบ้าง ทั้งที่ความจริงแล้วคำถามเหล่านี้ตีความแล้ว หมายความว่า สิ่งที่จะทำต่อหลังเรียนจบต่างหาก ที่เบนตอบอย่างนั้น ก็เพราะว่าเขาไม่รู้จริงๆว่าจะทำอย่างไร

ฉากหนึ่งที่ฉันชอบและจำได้ดี ตอนนั้นเป็นช่วงหลังจากที่เบนเป็นชู้กับ Mrs. Robinson แล้ว เป็นฉากที่เบนนอนลอยคออยู่ในสระน้ำ พ่อถามเขาว่า “Ben what do you doing?” เบนตอบพ่อเขาแบบซื่อๆว่า “Well I’d say I’m drifting here in the pool” พ่อถามต่อว่า “Why?” บน “Well it’s really comfortable just to drift here” คำถามของพ่อถ้าดูจากบริบทต่อจากนี้ก็คือ แกหนะทำอะไรอยู่ เรียนจบแล้วทำอะไร อีกครั้งที่เบนตอบแบบว่างเปล่าคือ ก็นอนลอยคออยู่ในสระน้ำนี่ มันก็สบายดี คำตอบของเบนอาจหมายถึงลอยคออยู่ในสระนี้จริงๆ หรือว่า ล่องลอยในความหมายของชีวิตด้วยก็เป็นได้ คือตอนนี้ก็ล่องลอยไปเรื่อยๆเหมือนกัน

งานด้านภาพของ The Graduate รู้สึกว่ามีการสื่อสารด้วยภาพค่อนข้างเยอะ หนังมักถ่ายภาพของเบนผ่าน foreground วัตถุอื่นเช่น ตู้ปลา (ส่วนใหญ่) หรือแม้แต่กรง ดูแล้วอึดอัดแทน เหมือนมีเรื่องอะไรในใจ เวลาตัวละครกดดันแทบจะเห็นหน้าแบบเต็มจอ ไม่เว้นที่ว่างด้านบนไว้ หนังถ่ายภาพซูมเฉพาะหน้าของเบน (หรือแม้เต่เอลเลน) ค่อนข้างเยอะ ตั้งแต่เปิดเรื่องมา รู้ได้ทันทีว่า ทั้งเรื่องต้องเป็นเรื่องชีวิตของนายเบนนี่อย่างแน่นอน อีกอย่างหนึ่งที่ฉันชอบคือ จะมีฉากหนึ่งที่เป็นฉากต่อเนื่องเล่าเรื่อง ที่สามารถเชื่อมกันได้โดยไม่ต้องตัดอะไรมากมาย มันเป็นฉากเล่าความคืบหน้าของตัวละคร แต่ทำได้อย่างมีชั้นเชิงเหลือเกิน ตามที่ยกภาพมาให้ดู ซึ่งต้องลองไปดูในหนังดู เช่น ในที่หนึ่งซูมหน้าของเบนแช่ไว้สักพัก ซูมออกกลายเป็นอีกที่หนึ่ง


การกระทำของเบนบางทีก็สับสนหาสาระไม่ได้ ไร้เหตุไร้ผล อยากทำสิ่งไหนก็ทำ ดูเหมือนว่าเป็นการทำตามใจตัวเอง แต่ท้ายสุดแล้วก็การไขว่คว้าหาสิ่งยึดเหนี่ยวอย่างสุดชีวิตต่างหาก สับสนกับคำพูดตัวเอง กับการกระทำของตัวเอง ซึ่งในตอนหลังมันจะชัดเจนมาก แต่เป็นการดีที่จะไม่เปิดเผยเรื่องราวดีกว่า เพราะนอกจากตัวเบนจะมีความสับสน ตัวนางเอกเองจริงๆแล้วก็งงๆไม่แพ้กัน แต่ยังดีที่มาเจอพวกเดียวกัน เลยพากันไปทั้งคู่ เหมือนรู้ตัว แต่ก็ต้องยึดเหนี่ยวกันไว้ก่อน สุดท้ายแล้วชีวิตจะไปทางไหนยังไม่รู้เลย


เรื่องความสับสนไม่แน่ใจในชีวิตนี้ ใช่ว่าจะเป็นกันแต่สมัย 40 กว่าปีที่แล้วแบบไหนหนัง แม้ปัจจุบันก็ยังพบเจอเรื่องราวแบบนี้จากเพื่อนฝูงอยู่ แม้แต่ฉันเอง เพราะบางทีเราเองก็งุนงงกับความต้องการ ชีวิตที่จะพัดพาไปทางไหน ว่าเราควรจะทำอะไรกันแน่ ฉันเองพอจะเข้าใจเบน จริงๆ

สุดท้ายนี้ฝากไว้ด้วยเพลง The sound of silence ขับร้องโดย Simon and Garfunkel ซึ่งเปิดหลอกหลอนมาตั้งแต่เครดิตเปิดเรื่องซึ่งเป็นภาพของเบนไหลไปเรื่อยตามทางในสนามบิน (เป็นทางเลื่อนแบบมาบุญครองหนะ) เหมือนกับจะบอกกลายๆถึงชีวิตต่อไปของเขาคนนี้ เมื่อมาคู่กับเพลงแล้ว นี่กลายเป็นสิ่งที่ฉันชอบจริงๆจังจริงๆ


The Sound Of Silence - Simon and Garfunkel

Wednesday, November 26, 2008

ฉันคือ Filmsyndrome



ภาพยนตร์เป็นหนึ่งในสื่อที่ถ้านับจากตั้งแต่เกิดจนโต ฉันเสพมันมากที่สุด อาจด้วยการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ถ้าใครมีพ่อชอบดูหนังก็คงรู้ หนังช่วงแรกๆที่ฉันได้ดูก็คงเป็นหนังนักบู้ กับหนังผี แน่นอนว่าหนังเรื่องแรกที่ชอบ ก็คงเป็น คนเหล็ก 2029 (ชื่อไทยที่เรียกกันตอนนั้น หรือ Terminator 2) ตอนนั้นดูหนังด้วยความสนุกสนาน แต่พ่อฉันก็แปลกหรือไม่แปลกอีกอย่าง ชอบดูหนังที่เขาว่าได้ ออสการ์กัน ถึงแม้มันจะไม่ดีเสียหมด แต่ทำให้ฉันเห็นว่าการดูหนังมันก็มีแง่มุมของมัน จนถึงโตมา ตะบี้ตะบันดูหนังหลายแบบหลายสไตล์ ชอบบ้างเบื่อบ้าง แต่ก็ดูได้หมด จนถึงการเข้าห้องเรียนหนัง ที่บางทีก็รู้เยอะ ดูไปก็คิดเยอะเกินไป คิดถึงทั้งการผลิต ทฤษฎีนู่นนี่ คิดมากไปบางทีก็ดูไม่สนุก

ความเชื่ออย่างหนึ่งของฉันคือ การที่เราเลือกชมภาพยนตร์ได้ทุกแบบทุกแนว คงไม่ต้องถึงกับชอบหมด แต่ก็คือการเปิดโลกอย่างใดอย่างหนึ่ง เราอาจจะได้เจอสิ่งแปลกใหม่ในนั้น นั่นก็เป็นความคิดหนึ่ง สุดท้ายแล้ว การที่ออกตัวว่า รักหนัง หรือชอบดูหนัง มันก็แค่ความชอบของฉัน ที่อยากเผยแพร่ให้คนอื่นเท่านั้นเอง



หลายคนที่เคยอ่านบล็อกของ exteen อาจคุ้นกับชื่อนี้ทำให้นึกถึงคุณ soundsyndrome จริงๆแล้ว ที่มาก็แค่อยากมีบล็อกที่เขียนเรื่องหนังสักบล็อกหนึ่งนอกจากบล็อกของตัวเองที่เขียนเรื่องปนๆกัน คุณ soundsyndrome ก็เป็นคนใกล้ชิด ส่วนหนึ่งด้วยความชื่นชม ความชัดเจนของเขา ฉันเองก็อยากชัดเจนเหมือนอย่างเขาเหมือนกัน

บทความที่จะนำมาลงที่นี่ก็จะรวบรวมจากงานเขียนที่เคยเขียนมา และที่จะเขียนต่อไป อาจไม่ถึงกับวิจารณ์อะไร แต่แค่อยากเล่าเรื่องหนังที่ได้ดูๆมาให้กับคนอื่นได้ฟัง ความจริงแล้วอาจเป็นเท่านั้นจริงๆ คนเขียนเรื่องหนังมีเยอะแยะมากมาย ตัวฉันเองไม่อาจเทียบได้กับพวกเขา แต่อยากบอกเล่าเรื่องราวในแง่มุมของตัวเองเท่านั้นเอง

จากนี้ขอบคุณทุกคนที่อาจจะแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนกัน

แถมท้ายอีกอย่าง รูปบนหัวบล็อกถ่ายจาก หอหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เห็นว่ามันเป็นเสี้ยวกระจก ถ่ายแล้วดูแปลกดี ใครว่างลองไปดูไม่ไกลแค่แยกปทุมวันเท่านั้นเอง


ฉันเอง

Filmsyndrome

ที่นี่และ http://uwaki.exteen.com/